ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วเมื่อได้รับวัคซีน ไข้เลือดออก สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้มากถึง 81.9 เปอร์เซ็นต์
ตำราเรียนสุขศึกษาเรื่องของ ยุงลาย และไข้เลือดออก มักจะบอกเราว่า ไข้เลือดออกเป็นไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยมีเอกลักษณ์ของอาการไข้ขึ้นสูงมากกว่าปกติ และมีเลือดออก อย่าง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆโดยอาจรุนแรงขึ้นขั้นมีอาการช็อก และเสียชีวิตได้ โดยจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น
แต่ที่ในตำราไม่ได้บอกก็คือ ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เรื่องนี้ถูกพูดถึงในวงเสวนา "วัคซันไข้เลือดออก : จุดเปลี่ยนเพื่อการป้องกันแบบองค์รวม" ที่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อไม่กี่วัน ที่ผ่านมา
รศ.นพ. ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกของไทยนั้น ในรอบทศวรรษที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันกลับพบว่ามีการเพิ่มขึ้น ของผู้ป่วย ที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่า ในแง่ของการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้มากกว่าถึง 10 เท่า ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทย เสียเงินไปกับค่าใช้จ่ายในการรักษา โรคไข้เลือดออกสูงถึง 290 ล้านบาท ถือเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น
สำหรับสถานการณ์การระบาดของไข้เลือดในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมถึงกลางเดือนสิงหาคม ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรค ไข้เลือดออกอยู่ราว 2.9 หมื่นคน ซึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-14 ปี และกลุ่มวัยรุ่น 15-24 ปี
ส่วนความคืบหน้าของวัคซีน ไข้เลือดออกที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออกเมื่อช่วงปลายปี 2559 และสามารถนำมาฉีดให้คนทั่วไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นั้น รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย อธิบายว่า วัคซีนดังกล่าวเป็นการผสมกันระหว่าง วัคซีนเชื้อไข้เหลืองกับชิ้นส่วนของเชื้อ ไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยจะทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งผล การศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนพบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วเมื่อได้รับวัคซีน ไข้เลือดออก สามารถป้องกันโรค ไข้เลือดออกได้มากถึง 81.9 เปอร์เซ็นต์ ต่างจากผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งป้องกันได้ 52.5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะไปกระตุ้นความจำของร่างกายให้กับคนที่เคยติดเชื้อเดงกีมาก่อนสามารถรับมือกับเชื้อได้ดีกว่าร่างกายของผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน
"การศึกษานี้พิสูจน์ให้เห็นว่า การฉีด วัคซีนไข้เลือดออกไม่ทำให้เกิดโรค ไข้เลือดออก ไม่เหมือนการติดเชื้อโดยธรรมชาติจากการถูกยุงกัด ส่วนที่กลัวว่าฉีดแล้วจะเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 ทำให้อาการป่วยรุนแรงนั้น จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างกว่า 30,000 คน เป็นระยะเวลา 6 ปียังไม่พบเหตุการณ์ดังกล่าว" นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ บอก โดยลักษณะการรับวัคซีนนั้น แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี กำหนดให้มีการฉีด 3 ครั้ง เว้นระยะ 6 เดือน และ 12 เดือนจากการฉีดเข็มแรก ซึ่งการฉีดแต่ละครั้งจะก่อภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อฉีดครบแล้วจะมีระยะเวลาป้องกันโรคได้นานขนาดไหนนั้นยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่ในการศึกษาติดตามผลผู้ที่รับวัคซีนนั้นพบว่า แม้จะผ่านมา 6 ปีแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนนั้นก็ยังอยู่ในระดับสูงอยู่
ถึงอย่างนั้น เรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับวัคซีนดังกล่าวก็ต้องถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูง เพราะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทำให้ราคาวัคซีนต่อเข็มนั้นอยู่ที่ 2,000 บาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การระมัดระวัง และเอาใจใส่กับยุงลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย แหล่งเพาะพันธุ์ และเฝ้าระวังสังเกตอาการคนใกล้ชิดอยู่เสมอก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอยู่ อย่างที่ ใครเคยบอกต่อกันมาว่า "ยุงร้ายกว่าเสือ"
ที่มา สสส.
ภาพ แฟ้มภาพ
แก้ไขล่าสุด : 25 ก.ย. 2561, เวลา 14:46