โรค “เฮอร์แปงไจน่า”

โรค “เฮอร์แปงไจน่า” (Herpangina) หรือโรคตุ่มแผลในปากเด็ก เป็นโรคในตระกูลเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นกลุ่มของ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) แต่มีอาการที่แตกต่างกันคือจะมีแผลเฉพาะที่ปาก

โรคเฮอร์แปงไจน่า"

โรค “เฮอร์แปงไจน่า” (Herpangina) หรือโรคตุ่มแผลในปากเด็ก เป็นโรคในตระกูลเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นกลุ่มของ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) แต่มีอาการที่แตกต่างกันคือจะมีแผลเฉพาะที่ปากเท่านั้น นอกจากจะมีแผลที่ปากแล้วจะมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำมูก ไอ จาม ลักษณะอาการจะมีไข้สูงประมาณ 39.5-40 องศาเซลเซียส และมีแผลในช่องปากบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในโพรงคอหอยด้านหลัง แต่ถ้าเป็นมือ เท้า ปาก ไข้จะไม่สูง และมีแผลกระจายอยู่ทั่วปาก รวมทั้งมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย

การติดต่อเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสหรือรับประทานสิ่งที่ปนเปื้อนกับเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ โรคเฮอร์แปงไจน่าพบได้ในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี เนื่องจากเด็กมักยังไม่มีภูมิต้านทานของเชื้อนี้ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกันในโรงเรียนอนุบาล หรือสถานเลี้ยงเด็ก เพราะเด็กมักเล่นของเล่นร่วมกัน หยิบจับสิ่งของร่วมกัน จึงมีโอกาสติดต่อได้ง่าย โดยเชื้อนี้จะอยู่ได้นานในอากาศเย็นและชื้น จึงมักระบาดมากในฤดูฝน แต่ก็สามารถพบได้ตลอดทั้งปี

โดยทั่วไปแล้วโรคเฮอร์แปงไจน่ามักจะมีอาการไม่รุนแรง ยกเว้นไข้สูง แต่ก็ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้จากโรคนี้ เช่น การอักเสบของก้านสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบได้น้อย

สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ สามารถรับประทานอาหารได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเด็กคนไหนมีอาการเจ็บในปากมาก ไม่ยอมรับประทาน หรือไม่ยอมกลืนอาหาร ควรหาของอ่อนๆ ให้เด็กรับประทาน หรือในบางครั้งให้รับประทานอาหารประเภทน้ำหรือนมเย็นๆ หรือไอศกรีมก็ได้ ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น การรักษาจึงให้รักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ และยาชาทาแผลในปาก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บ โดยทั่วไปสามารถหายได้เอง เพียงแต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนดังที่ได้กล่าวไป ถ้าหากเด็กรับประทานอาหารไม่ได้ หายใจหอบ มีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือชัก ควรรีบมาพบแพทย์

วัยเสี่ยงโรคเฮอร์แปงไจน่า  ส่วนใหญ่กลุ่มเด็กที่เสี่ยงโรคเฮอร์แปงไจน่า จะอยู่ราวๆ 3-10 ขวบ

อาการของโรคเฮอร์แปงไจน่าคล้ายกับโรคมือเท้าปากคือ

  • ผู้ป่วยจะมีแผลในปากที่บริเวณเพดานปาก ลิ้นไก่ ด้านหลังของคอหอย
  • แต่จะไม่มีผื่นสีแดง หรือตุ่มน้ำ ที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
  • อาจมีไข้สูงกว่าโรคมือเท้าปาก 
  • อาการไข้จะลดลงภายใน 2-4 วัน
  • แผลในปากอาจคงอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์

เนื่องจากโรคเฮอร์แปงไจน่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาได้จำเพาะเจาะจง การดูแลผู้ป่วยจะใช้การรักษาตามอาการ ได้แก่

  • การเช็ดตัวลดไข้ ทานยาแก้ปวดลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการไข้และการเจ็บแผลในปาก
  • หยดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปากก่อนทานอาหาร
  • ทานอาหารอ่อน ไม่ควรทานอาหารร้อนจัดเพราะอาจกระตุ้นให้เจ็บแผลในปากได้
  • อาจดื่มนมเย็น หรือไอศกรีมได้ เพราะเนื่องจากความเย็นทำให้ชา ไม่เจ็บเวลากลืนและควรดื่มน้ำมากๆ

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเฮอร์แปงไจน่า จึงต้องใช้การป้องกันโรคด้วยวิธีรักษาสุขอนามัยทั่วไป

เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค และเนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน วิธีการติดต่อก็เหมือนกับโรค มือ เท้า ปาก การป้องกันโรคจึงใช้หลักการเดียวกัน ได้แก่

  • เมื่อมีการระบาดของโรคไม่ควรนำเด็กเข้าไปในที่แออัด
  • ไม่ใช้ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนปะปนกัน
  • ทางโรงเรียนควรหมั่นทำความสะอาดของเล่นต่างๆ เพราะอาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็กได้ตลอด
  • ควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็กรวมทั้งตรวจร่างกายเพื่อคัดกรองเด็กป่วยที่หน้าโรงเรียนทั้งอาการไข้ และตุ่มน้ำที่ปาก ผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค
  • รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งด้วยน้ำและสบู่
  • หากลูกหลานไม่สบายควรให้หยุดเรียนเพื่อจะได้ลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

สุขสาระ -กรกฎาคม 2560

Tags : all โรค ร่างกาย

แก้ไขล่าสุด : 27 ม.ค. 2563, เวลา 23:20


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่