คลังเล็งต่ออายุภาษียาสูบแบบใหม่ นักวิชาการเตือนกระทบรายได้รัฐและคนสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น

คลังเล็งต่ออายุเก็บภาษียาสูบแบบ 2 อัตรา อุ้มโรงงานยาสูบ ไม่สนนักวิชาการเตือนทำรายได้รัฐหดหายในขณะคนสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน โครงสร้างภาษียาสูบมีลักษณะแบบ Two Tiers (2 อัตรา) คือ กรณีราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาทต่อซอง จะคิดอัตราภาษี 20% กรณีราคาขายปลีกเกิน 60 บาทต่อซอง คิดภาษีในอัตรา 40% ซึ่งเดิมที กฎหมายกำหนดให้ปรับภาษีเป็นอัตราเดียวที่ 40% ไม่ว่าราคาขายปลีกจะเป็นเท่าไหร่ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

ต่อมา กระทรวงการคลังได้ขอมติคณะรัฐมนตรีขยายระยะเวลาการใช้ระบบภาษี Two Tiers  ( 2 อัตรา) ออกไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ปี 2563 และได้ขยายออกไปอีกครั้งจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ปี 2564 หลังจากนั้น จึงจะกลับมาใช้ระบบภาษี Tier เดียว คือ อัตรา 40 % ไม่ว่าราคาขายปลีกจะเป็นเท่าไหร่ โดยให้เหตุผลว่าระบบภาษี Tier เดียว จะทำให้โรงงานยาสูบไม่สามารถอยู่ได้ เพราะต้องขายบุหรี่เพื่อนำเงินมาจ่ายภาษี ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับบุหรี่นำเข้าได้ เพราะแม้บุหรี่นำเข้าจะต้องจ่ายภาษีในโครงสร้างเดียวกันนี้ และอาจขาดทุนหรือมีกำไรลดลงเช่นกัน แต่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติเหล่านั้น ยังสามารถนำกำไรที่ได้จากการขายในประเทศอื่น ๆ มาชดเชยได้ ซึ่งนายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทยก็เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้หารือกับกระทรวงการคลัง มีความเป็นไปได้ว่า ระบบอัตราภาษี Two Tiers (2 อัตรา) จะยังมีอยู่ต่อไป แต่อาจมีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเป็นบางส่วนเพื่อให้เหมาะสม

ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทยยังเปิดเผยผลประกอบการของปีงบประมาณ 2563 เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า โรงงานยาสูบมียอดขาย 1.7 หมื่นล้านม้วน มีกำไรสุทธิ 593 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2564 คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 1.8 หมื่นล้านม้วน และจะมีกำไร (เพิ่มขึ้นเป็น) 950-1,200 ล้านบาท ซึ่งถ้าอนุมัติให้โรงงานยาสูบสามารถปลูกพืชกัญชงและกัญชาได้ ชาวไร่ผู้ปลูกและขายผลผลิตให้กับโรงงาน ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ซึ่งศึกษาระบบภาษียาสูบของประเทศไทยและหลายประเทศในเอเชีย ก็กล่าวถึงปัญหานี้ว่า

“ระบบภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 2 Tiers นี้ทำให้คนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น ในขณะที่รัฐได้รายรับจากภาษีสรรพสามิตน้อยลง จึงเป็นการปรับโครงสร้างและอัตราภาษีที่ให้ผลตรงกันข้ามกับหลักการ และแนวทางที่ประเทศไทยทำมาตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา และทำให้ระบบภาษีสรรพสามิตบุหรี่ของประเทศไทยย้อนยุคไปนับสิบปี การตัดสินใจใช้ระบบ 2 Tiers ก็ต้องยอมรับว่าพลาดไปแล้ว และควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

อ่านเรื่องภาษีสอง Tiers เพิ่มเติมได้ที่ ภาษีบุหรี่ระบบใหม่ทำพิษ รัฐมีรายได้น้อยลงในขณะที่คนสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น

 

ดร.อิศราฯ ให้คำแนะนำว่า

“สิ่งที่ควรทำคือ ต้องขึ้นภาษีบุหรี่ที่ราคาขายต่ำกว่า 60 บาท ให้สูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ก็ยกเลิกเส้นตัดแบ่ง 60 บาท ให้เป็นอัตราเดียวกัน อย่างต่ำ 40% ทุกยี่ห้อทุกราคา ที่ว่ากันว่าระบบภาษีสรรพสามิตใหม่ที่เป็นอัตราเดียว จะทำให้รัฐวิสาหกิจที่ผลิตบุหรี่ภายในประเทศต้องขาดทุนและเราต้องช่วยกันแก้ปัญหา จริง ๆ แล้ว การใช้อัตราเดียว (40%) เพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ก็ไม่ได้กระทบเฉพาะบุหรี่ในประเทศ ทั้งบุหรี่ในและบุหรี่นอกได้รับผลกระทบเหมือนกัน ต่างต้องปรับตัวไปตามกลไกการตลาดด้วยกัน ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายที่ทำงานควบคุมการบริโภคบุหรี่และยาสูบที่จะต้องกังวลใจจนเกินไป เพราะเป้าหมายหลักของการทำงานคือควบคุมการสูบบุหรี่ให้น้อยลง และตระหนักว่าทั้งบุหรี่ไทยและบุหรี่นอกก็อันตรายต่อผู้สูบและคนใกล้ชิดเหมือนกัน การที่เราไปกังวลและพยายามวางนโยบายให้เอื้อต่อผู้ผลิตบุหรี่ภายในประเทศ อาจเข้าข่ายการปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ หรือ Protection ซึ่งขัดต่อข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่เราลงนามไว้ ถ้าห่วงคนไทยจริง ก็ควรหาทางช่วยให้ทั้งผู้ผลิตบุหรี่ และชาวไร่มีรายได้จากแหล่งอื่นที่ดีกว่านี้”

 

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/907482


แก้ไขล่าสุด : 30 พ.ย. 2563, เวลา 07:04



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่