เขตสุขภาพที่ 2 จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ในกลุ่มเสี่ยงอายุ 50–70 ปี เพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ตรวจพบเร็ว รักษาทัน หายขาดได้
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 พร้อมด้วยนายแพทย์ภูวนนท์ เอี่ยมจันทน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 2 พิษณุโลก นายแพทย์ทรงวุฒิ ทรัพย์ทวีสิน ประธานคณะทำงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันแถลงข่าวโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เขตสุขภาพที่ 2 ปีงบประมาณ 2561 โดยมีพลตำรวจโทวสันต์ วัสสานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ เขต 2 พิษณุโลก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 2 ได้ร่วมกับ สปสช.เขต 2 และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของทั่วโลก ข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า มีผู้เสียชีวิต 528,980 รายต่อปี มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,023,152 รายต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนในประเทศไทย พบมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมด พบสูงเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย รองจากมะเร็งตับและปอด และมากเป็นอันดับ 4 ในเพศหญิง รองจากมะเร็งเต้านม ปากมดลูก ตับ มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักปีละประมาณกว่าหมื่นราย โดยเขตสุภาพที่ 2 ตั้งเป้าหมายคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในปี 2561 จำนวน 73,000 ราย เมื่อพบผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น รักษาให้หายขาดได้ “ตรวจพบเร็ว รักษาทัน” ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เขตสุขภาพที่ 2 ในปีงบประมาณ 2560 พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสูงเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 70 มารับการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงในระยะสุดท้าย มีอัตรารอดชีวิตเพียงร้อยละ 15-20 เท่านั้น และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคระยะสุดท้ายสูงถึง 160,000 บาท/ราย ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะเป็นการป้องกันการเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยการตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Fecal Immunochemical Test: FIT test) ตรวจยืนยันวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องทางทวารหนัก (colonoscopy) ส่งตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อวินิจฉัยโรคและเข้าสู่การรักษาที่เหมาะสม
นพ.ทรงวุฒิ ทรัพย์ทวีสิน ประธานคณะทำงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง กล่าวว่า คณะทำงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง เขตสุขภาพที่ 2 ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 2 พิษณุโลก โดยให้ประชาชนเก็บตัวอย่างอุจจาระด้วยตนเอง ส่งให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (FIT test) หรือรพ.สต.อาจส่งตรวจที่โรงพยาบาลชุมชน หากพบมีความเสี่ยงเป็นเนื้องอกหรือโรคมะเร็งจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เพื่อตรวจยืนยัน และตรวจชิ้นเนื้อ และให้การรักษา ซึ่งหากเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้นก็สามารถรักษาให้หายขาดได้
ที่มา เว็บไซต์ สสส.
ภาพ แฟ้มภาพ
แก้ไขล่าสุด : 24 มิ.ย. 2561, เวลา 22:57