ดร.อิศรา สอนเรื่อง Ex post กับ Ex ante analysis พร้อมยกตัวอย่างปัญหาภาษีบุหรี่

เช้านี้ วันที่ 14 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว Isra Sarntisart

เขียนเรื่อง Ex post กับ Ex ante analysis ไว้อย่างน่าสนใจ  มีการกดแชร์เป็นจำนวนมาก แอดมินขอยกบทความทั้งหมดมาลงในเว็บ ดังนี้...

...คราวนี้ ผมขอกล่าวถึงคำภาษาลาตินสองคำ คือ Ex post กับ Ex ante ซึ่งมีการใช้สองคำนี้ในหลายสาขาวิชา

Ex post กับ Ex ante สองคำนี้ เมื่อเขียนตามด้วยคำว่า Analysis ซึ่งแปลว่าการวิเคราะห์ เพื่อน ๆ ที่อยู่ในวงวิชาการและวิจัยทางสังคมศาสตร์-เศรษฐศาสตร์จะรู้จักและเข้าใจความหมายกันดี อย่างไรก็ตาม ผมคาดว่าอาจยังมีบางท่าน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอกวงการนี้ ไม่คุ้นชินกับสองคำนี้ จึงขอเขียนเกริ่นนำไว้สักนิด

Ex post analysis คือการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ไม่มีทางหวนกลับไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะเป็นประโยชน์ถ้าในอนาคต ในวันข้างหน้า จะต้องตัดสินใจในเรื่องทำนองเดียวกัน หรือนโยบายคล้าย ๆ กันอีก สามารถนำความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์มาเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอย สร้างความเสียหายแบบเดิม แต่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้

Ex ante analysis คือการวิเคราะห์สิ่งที่ยังไม่เกิดหรือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยหวังว่าผลที่ได้จากการวิเคราะห์จะช่วยให้การตัดสินทำอะไรบางอย่าง หรือการดำเนินนโยบายบางนโยบาย มีความรอบคอบหรือมองปัจจัยต่าง ๆ รอบด้านขึ้น ไม่ผิดพลาดเลยหรือผิดพลาดน้อยที่สุด และจะมีโอกาสประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้มากขึ้น

สำหรับนักวิชาการ นักวิจัยแล้ว ทั้ง Ex post Analysis และ Ex ante Analysis มักอิงทฤษฎีหรือข้อค้นพบจากการวิจัยในอดีต และอาจมีบ้างที่อิงประสบการณ์

จะอย่างไรก็แล้วแต่ มีการวิเคราะห์ทั้งสองรูปแบบวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่างของผู้คน ขององค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน และแม้แต่ในการตัดสินใจเชิงนโยบายของผู้มีอำนาจทางการเมือง

เรื่องบางเรื่องควรใช้ Ex ante analysis เช่น การตัดสินใจผ่าตัดอวัยวะสำคัญทิ้ง การตัดสินใจทำรัฐประหาร ที่ทำแล้ว เห็นผลเสีย จะย้อนมาแก้ไขโดยไม่ทำก็ไม่ได้ หรือการตัดสินใจลงคะแนนไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ต้องทำอย่างรอบคอบ คิดอย่างรอบด้าน เมื่อยกมือหรือไม่ยกมือไปแล้ว เกิดผลแล้ว จะย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้

เรื่องบางเรื่องควรใช้ Ex post analysis เช่น การตัดสินใจทางนโยบายที่ทำไปแล้วได้ผลไม่ตรงกับที่คาดไว้แต่แรก จึงต้องวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไร ในเงื่อนไขใด เพื่อว่าเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องเดิมหรือเรื่องคล้าย ๆ กันอีกครั้ง จะสามารถทำได้ดีกว่าเดิม ไม่ทำผิดซ้ำซากอีก

แต่ต้องระมัดระวังให้มากนะครับ เพราะถ้าใช้ผิดที่ผิดทาง ไม่มีหลักการ ไม่มองทั้งสองด้านคือด้านที่สำเร็จและด้านที่ผิดพลาดล้มเหลว Ex post analysis จะดูเหมือนการจับผิด การตำหนิติเตียน ที่น่าจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี ในขณะที่ Ex ante analysis จะเหมือนหมอดูที่คู่กับหมอเดา ซึ่งปลูกฝังความงมงายลงในสมองของประชาชน

เพื่อให้ห่างจากการเมืองมากที่สุด ผมขอยกตัวอย่าง การชกมวยชิงแชมป์โลกเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่นักมวยโลกระดับตำนานอายุ 43 ปีคนหนึ่ง ต้องเปลี่ยนคู่ชกในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงสองสัปดาห์ก่อนการชก มาชิงแชมป์จากแชมป์โลกที่มีอายุน้อยกว่าถึงแปดปี ก่อนการชก บรรดากูรู ผู้คร่ำหวอดในวงการมวย ต่างให้ยอดมวยคนนี้เป็นต่อหลายขุม โดยให้เหตุผลในเชิง Ex ante analysis มากมาย เช่น ประสบการณ์ที่เหนือกว่า เชิงชกที่ดีกว่า น้ำหนักหมัดที่น็อกคู่ต่อสู้มาตลอด การซ้อมที่ดี แต่การวิเคราะห์ก็ผิดพลาด ผลออกมาว่านักมวยระดับตำนานคนนี้แพ้เป็นเอกฉันท์ แล้วคำวิจารณ์ก็ตามมามากมาย เช่น แก่เกินไป ความว่องไวและน้ำหนักไม่เหมือนเดิม ซ้อมหนักเกินไป

ผมยังลองคิดนะครับว่า ถ้านักมวยแก่ระดับตำนานคนนี้ ยอมเลื่อนการชกออกมาสักเดือน เป็นต้นเดือนกันยายน เพื่อให้มีเวลาเรียนรู้ลีลาคู่ชกรุ่นน้องคนนี้ให้มากขึ้น ผลการชกอาจพลิกจากแพ้เป็นชนะได้ แล้ว Ex post analysis ของกูรูต่าง ๆ ก็จะบอกว่าเป็นเพราะประสบการณ์ที่เหนือกว่า รูปมวยที่ดีกว่า และตัดสินใจเด็ดขาดกว่า หมัดเดียวเอาอยู่เลย

อีกตัวอย่างคือการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สร้างความเสียหายมาแล้ว ซึ่งแม้ว่าการทำ Ex post analysis จะแก้ไข ลบล้างความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่ได้ เช่น โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ปี 2560 ที่พบว่าทำให้ราคาบุหรี่โดยเฉลี่ยลดลง คนสูบบุหรี่มากขึ้น รัฐได้ภาษีน้อยลง บุหรี่ไทยเสียส่วนแบ่งตลาด และชาวไร่ยาสูบเดือดร้อนไปทั่ว ซึ่งหลังจากผ่านไปสี่ปี ตอนนี้ทุกฝ่ายเข้าใจเหตุผลหรือกลไกที่ทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อต้องตัดสินใจกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ (ซึ่งน่าจะประกาศหลังจากผมโพสต์บทความนี้ไม่กี่ชั่วโมง หรืออย่างช้าที่สุดก็ภายในเดือนกันยายนนี้) ได้แต่หวังว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะผ่าน Ex ante analysis ที่ดีพอ และรัดกุมมากที่สุด เพื่อไม่ให้ผิดพลาด สร้างความเสียหายซ้ำรอยเดิม ให้ต้องให้ถูกสังคมประนามอีก

ถ้าย้อนมาคุยเรื่องสำคัญคือ การระบาดของโควิด-19 ผมอยากลองทำ Ex ante analysis สักสองเรื่อง แล้วชวนเพื่อน ๆ ให้ความเห็นเสริมหรือโต้แย้ง หรือเพิ่มเติมว่าน่าจะมีเรื่องอะไรนอกเหนือไปจากสองเรื่องที่ผมนำเสนอ การแลกเปลี่ยนความเห็นกันในลักษณะนี้จะช่วยให้เรามองปัญหาได้ถี่ถ้วนขึ้น

สองเรื่องที่ว่าคือการดูแลสุขภาพ (Health care) กับ Booming sector ที่ผมแปลเป็นไทยว่า ภาคเศรษฐกิจใหม่ที่โตแบบฉับพลัน

ในเรื่องแรกคือ การดูแลสุขภาพ (Health care) ผู้รู้ ผู้สนใจทางด้านนี้ทราบดีว่า มีสามแนวทาง คือการส่งเสริมสุขภาพ (Promotive care) การป้องกันสุขภาพ (Preventive care) และการรักษาสุขภาพ (Curative care) โดยการส่งเสริมสุขภาพมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำสุด การป้องกันสุขภาพมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าการรักษาสุขภาพที่มีต้นทุนสูงที่สุด

ทุกคนคงได้เห็นแล้วว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาเกือบสองปี รัฐต้องโยกย้าย ทุ่มเทบุคลากรและทรัพยากรทางการแพทย์ไปใช้ในการบริหารจัดการปัญหานี้มากมาย เรียกได้ว่าเป็นการช็อคทางด้านอุปทาน (Supply shock)

ในขณะเดียวกัน ถ้าเพื่อน ๆ ลองสังเกตหรือถามตัวเองดู จะพบว่าประชาชนจำนวนมากหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล ถ้าไม่คอขาดบาดตายจริง ๆ ไม่มีใครอยากไปหาหมอ ไปตรวจร่างกาย เพราะกลัวว่าจะติดโควิด เป็นการช็อกทางด้านอุปสงค์ (Demand shock) ของการป้องกันสุขภาพ (Preventive care)

ในด้านการดูแลสุขภาพ การป้องกันสุขภาพ (Preventive care) กับการรักษาสุขภาพ (Curative care) ไม่ได้แยกกันอยู่แบบตัวใครตัวมัน การไม่ไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกาย ทำให้โอกาสที่จะป้องกันโรคลดลง Ex ante analysis บอกได้เลยว่า ในอนาคตไม่ไกลนี้ จะมีคนป่วยที่ต้องการการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งมีต้นทุนสูงค่าใช้จ่ายสูงทั้งกับตัวเองและกองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งผมคาดว่าผลกระทบนี้จะเริ่มเกิดขึ้น และค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ก่อนการระบาดจะสงบลง และจะเกิดกับทุกประเทศ มากน้อยไม่เท่ากัน ผมเรียกผลกระทบนี้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาด (Post covid-19 economic impact)

คำถามแรกของผมคือ ภาครัฐหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตระหนักไหม พร้อมไหม เตรียมรับมือไว้หรือยัง

เรื่องที่สอง คือ ภาคเศรษฐกิจที่โตแบบฉับพลัน (Booming Sector)

พวกเราสังเกตไหมครับว่า ผลกระทบของโควิด-19 ที่พูดถึงกันมากคือผลกระทบเชิงลบ ที่เกิดกับบางภาคเศรษฐกิจทั้งในด้านรายได้และการจ้างงาน เช่น สายการบิน สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร ร้านขายของที่ระลึก และแม้แต่แหล่งอบายมุข ที่ต้องปิดตัวลงไป เพราะการ Lock down หรือ Curfew เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

มีน้อยที่พูดถึงภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก โดยเฉพาะบางภาคเศรษฐกิจที่โตแบบฉับพลัน (Booming Sector) ที่ใกล้ตัวที่สุดคือ การขายของออนไลน์ การจัดส่งสินค้า ที่ช่วยดูดซับแรงงานที่ต้องตกงานจำนวนหนึ่ง เป็นแหล่งรายได้ของหลายคนหลายครอบครัว และไกลตัวออกไปหน่อย อาจมีภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ดิจิตัล ที่กำลังโตในลักษณะนี้ ซึ่งถ้าเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่พอและเกี่ยวข้องกับการค้าขายการลงทุนระหว่างประเทศ ก็อาจมีอาการป่วยทางเศรษฐกิจที่วงการเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Dutch disease ได้ (ซึ่งผมขอข้ามไปก่อนในที่นี้)

คำถามที่สองของผมคือ มีใครเคยทำ Ex ante analysis แล้วพยากรณ์ไหมครับว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สงบลง นั่นคือผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาด (Post covid-19 economic impact) ที่เกิดกับภาคเศรษฐกิจที่โตแบบฉับพลันแล้วจะเป็นอย่างไร อุปสงค์ของภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ จะลดลงไหม หรือจะโตต่อไป และถ้าจะลดลง แรงงานในภาคเศรษฐกิจนี้จะไปอยู่ตรงไหน จะทำมาหากินอย่างไร หรือถ้าจะเติบโตต่อไป จะเติบโตไปถึงจุดไหน จะดูดซับแรงงานและการลงทุนไปจากภาคเศรษฐกิจอื่นมากน้อยเพียงใด

ผมรอความเห็นของเพื่อน ๆ นะครับ ทุกความเห็นเป็นประโยชน์ต่อสังคม

ส่วนเรื่องจะ Lock-Unlock ประเทศอย่างไร จะให้มี Curfew หรือไม่ และประเทศไทยจะไปถึงเป้าหมายประชากร 70% ได้รับการฉีดวัคซินครบโดส เพื่อให้มี Herd Immunity หรือไม่ ขอไม่เขียนซ้ำนะครับ เพื่อน ๆ ที่สนใจสามารถย้อนอ่านในเฟสบุ๊ค Isra Sarntisart ได้


แก้ไขล่าสุด : 21 พ.ย. 2566, เวลา 11:35



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่