ผู้สูบบุหรี่10% ของโลกอยู่ในอาเซียน

ผู้สูบบุหรี่ถึง 10% ของโลกอยู่ในอาเซียน อันเป็นผลมาจากกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการเก็บภาษีไม่เข้มงวดพอ ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขตามมา

สำนักข่าว Asian Corrrespondent เสนอประเด็นที่ว่าภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีประชากรสูบบุหรี่อาศัยอยู่ถึง 10% ของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่มีอัตราประชากรสูบบุหรี่ติดอันดับต้นๆของโลก โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกปี 2016 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคภัยที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่มากถึง 560,000 รายในอาเซียน

แม้ว่า WHO จะรณรงค์เรื่องการควบคุมการสูบบุหรี่มากว่า 10 ปีแล้ว แต่หลายประเทศในอาเซียน ซึ่งยังเป็นประเทศรายได้ต่ำหรือปานกลาง ยังล้มเหลวที่จะบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ที่เข้มงวด โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม และเมียนมา ซึ่งมีประชากรคิดเป็น 80% ของอาเซียน ก็ยังไม่สามารถออกกฎหมายที่ลดผู้สูบบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม และบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เนื่องจากขาดแรงจูงใจทางการเมือง รวมถึงไม่ได้รับความร่วมมือจากอุตสาหกรรมบุหรี่ ซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล และที่สำคัญก็คือการไม่มีมาตรการทางภาษีที่เข้มงวดพอ ทำให้ในหลายประเทศ บุหรี่ราคาซองละเพียง 1-2 ดอลลาร์ หรือ 30-60 บาทเท่านั้น

เหตุผลอีกประการที่ทำให้ประเทศในอาเซียนหลายประเทศไม่สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ ก็คือการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่ใช้จ่ายต่อหัว 0.11 ดอลลาร์ ตามเกณฑ์ของ WHO ในการส่งเสริมให้ประชาชนไม่สูบบุหรี่ และแม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีกฎหมายไม่ขายบุหรี่ให้แก่ผู้เยาว์ แต่ส่วนใหญ่ประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้บังคับให้ผู้ขายต้องเรียกดูบัตรประชาชนจากผู้ซื้อเพื่อตรวจสอบอายุทุกครั้ง ส่วนการบังคับให้ผู้ผลิตบุหรี่พิมพ์หน้าซองเป็นภาพพิษภัยของบุหรี่กินพื้นที่ถึง 75% ของซอง ก็ไม่ถูกนำมาปฏิบัติจริงในลาว และรัฐบาลก็ไม่กล้ากดดันผู้ประกอบการบุหรี่ที่เป็นธุรกิจใหญ่ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยานเช่นนี้ ทำให้การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ไม่ได้ผล

ความล้มเหลวในการควบคุมจำนวนผู้สูบบุหรี่ หมายความว่าการสูบบุหรี่กำลังกลายเป็นภาระหนักสำหรับรัฐบาลในอาเซียน ที่จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่หลายประเทศเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัยที่ขาดแคลนทั้งแรงงาน และขาดผู้ที่จะป้อนเงินภาษีเข้ารัฐ ประเด็นนี้จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่รัฐบาลต้องแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งขึ้น กล้าสู้กับธุรกิจยาสูบ และเอาจริงเอาจังมากขึ้นในการลดจำนวนนักสูบลง

ที่มา Voice TV
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 9 ต.ค. 2561, เวลา 23:25



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่