แนะ ขยะติดเชื้อควรกำจัดให้ถูกวิธี

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ขยะติดเชื้อควรมีการทิ้งและกำจัดที่ถูกวิธี ห้ามทิ้งตามแหล่งพื้นที่สาธารณะเด็ดขาด เพราะเสี่ยงการกระจายของเชื้อโรคส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในชุมชนได้

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีที่มีการพบถุงน้ำยาที่ใช้ล้างไตทั้งที่ไม่ได้ใช้และใช้งานแล้วรวมกว่า 300 ถุง บริเวณสะพานข้ามสายห้วยไผ่ - นาคอก ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ว่า การลักลอบทิ้งถุงน้ำยาล้างไตในพื้นที่สาธารณะเสี่ยงเป็นอันตรายต่อประชาชน เนื่องจากถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้วถือเป็นมูลฝอยติดเชื้อตามนิยามของกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ซึ่งวิธีการจัดการ ถุงน้ำยาล้างไตอย่างถูกต้อง สามารถทิ้งน้ำยาที่ผ่านการล้างไตทางช่องท้องลงโถส้วมที่มีบ่อเกรอะราดน้ำให้สะอาด และหมั่นดูแลความสะอาดห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำยาโดยตรง และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังกำจัด ส่วนถุงน้ำยาล้างไตที่กำจัดสารน้ำหมดแล้ว ต้องนำมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาซักผ้าขาว ตากแดดให้แห้ง อย่างน้อย 30 นาที แล้วนำไปทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดอย่างมิดชิด ซึ่งการกำจัดถุงน้ำยาล้างไตให้ถูกวิธีจะช่วยลดปัญหามูลฝอยติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อประชาชนในชุมชนได้

"ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยสามารถดำเนินการขนหรือกำจัดเอง หรืออาจอนุญาตให้เอกชนดำเนินการได้ รวมทั้งมีอำนาจในการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ โดยไม่เกินกว่าที่กฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อให้เกิดการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่ได้อย่างถูกสุขลักษณะ มีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา กรมอนามับ
ภาพ แฟ้มภาพ

แก้ไขล่าสุด : 15 ต.ค. 2561, เวลา 23:28



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่