เคล็ดลับการถือศีลอดให้สุขภาพดี กับการประยุกต์ใช้ 3 อ. 1 ส.

เคล็ดลับการถือศีลอดให้สุขภาพดี

หะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า 

“ผู้ศรัทธาที่แข็งแรง ย่อมดีกว่าและเป็นที่รักยิ่งสำหรับอัลลอฮฺมากกว่าผู้ศรัทธาที่อ่อนแอ” (รายงานโดยมุสลิม) 

เมื่อเดือนรอมฎอนมาถึง การถือศีลอดได้เริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น มุสลิมผู้ศรัทธาจะต้องงดเว้นจากการกิน การดื่ม การระงับยับยั้งอารมณ์ใฝ่ต่ำต่างๆ ตลอดช่วงเวลากลางวัน ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนดวงอาทิตย์ตก เคล็ดลับที่สำคัญของการมีสุขภาพดีในเดือนรอมฎอน ด้วยหลัก 3 อ.1 ส. ดังนี้

1. การรับประทานอาหาร

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นโอกาสอันดีที่อวัยวะของระบบทางเดินอาหารจะได้พักผ่อนและจะได้ล้างสารพิษในร่างกายออกไป จากการศึกษาพบว่าการอดอาหารในระยะหนึ่งจะเป็นการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพราะร่างกายจะขับของเสียที่หมักหมมหรือสารอาหารที่มีมากเกินความต้องการของร่างกายออกไปเช่น ไขมันในเลือดหรือคอเรสเตอรอล  ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ในเดือนนี้ร่างกายของผู้ที่ถือศีลอดอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างเปราะบาง การอดมาทั้งวันทำให้เกิดความหิวอยากรับประทานอาหารในปริมาณมากๆ ก่อนละศีลอดมุสลิมส่วนใหญ่จะมีการเตรียมอาหารไว้อย่างมากมาย และเมื่อถึงเวลาละศีลอด จะรับประทานทุกอย่าง ปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ จนเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ไม่สบายท้อง ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ การรับประทานอาหารแต่พอดีจะทำให้สุขภาพดีด้วย ตามหะดิษของท่านรอซู้ล(ซ.ล.) ที่กล่าวว่า “ อาหารไม่กี่คำก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่อ่อนแรงขาดสารอาหาร ถ้าหากประสงค์จะบริโภคมากกว่านั้น ก็ให้บริโภคในปริมาณหนึ่งส่วนสามของท้อง อีกหนึ่งส่วนเก็บไว้สำหรับน้ำ และส่วนสุดท้ายสำหรับลมหายใจ ดังกล่าวนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับร่างกายและหัวใจ”  จากหะดิษนี้ถึงแม้จะรู้ว่ามีประโยชน์แต่มุสลิมส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ถ้ามีอาหารอย่างมากมายอยู่ตรงหน้า ความสามารถในการควบคุมจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้ที่สามารถควบคุมจิตใจของตัวเองได้ตามหะดิษนี้ เขาจะมีสุขภาพดีอย่างแน่นอน

สิ่งที่ต้องคำนึงอีกประการหนึ่ง นั่นคือความเหมาะสมในการบริโภคอาหารของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความแตกต่างทางเพศ วัย ผู้ที่แข็งแรง ผู้ที่เจ็บป่วย ตลอดจนสภาพแวดล้อมหรือภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ความต้องการสารอาหารของร่างกายแตกต่างกันไปด้วย  ควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับตัวเอง เมื่อถึงเวลาละศีลอดควรรับประทานอินทผลัมสองถึงสามเม็ด แล้วตามด้วยน้ำหนึ่งถึงสองแก้ว เพื่อขจัดความหิวและความกระหาย ช่วยกระตุ้นระบบการย่อยอาหารและเติมพลังงานให้ร่างกาย ระดับหนึ่งก่อน แล้วไปละหมาดมักริบ หลังจากนั้นค่อยรับประทานอาหารอย่างละนิดอย่างละหน่อย รวมถึงผลไม้และผัก ดื่มน้ำให้บ่อยครั้งขึ้นเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำในตอนกลางวัน หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสจัด อทิ เค็มจัด เผ็ดจัด หวานจัดและน้ำอัดลม

การถือศีลอดอย่างถูกวิธีในช่วงเดือนรอมฎอน การบริโภคสารอาหารที่ถูกต้องถูกหลักอนามัยและในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานอย่างราบรื่น จะทำให้ได้เติมพลังงานในแต่ละวัน ซึ่งน้ำหนักอาจจะลดลงโดยที่ร่างกายไม่เสียกล้ามเนื้อที่มีคุณค่า ผู้ที่รักสุขภาพเดือนรอมฎอนเป็นโอกาสเหมาะที่สุดที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

2. การออกกำลังกาย

การถือศีลอดไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายแต่อย่างใด การเพิ่มการละหมาดให้มากขึ้นเช่น ละหมาดสุนัตต่างๆ รวมถึงการละหมาดตะรอเวียะอฺ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการออกกำลังกาย แต่สำหรับผู้ที่ต้องการให้สุขภาพดีหรือออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เดือนรอมฎอนยังสามารถออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้พละกำลังมากหรือหนักจนเกินไป  นักโภชนาการมุสลิมแนะนำให้ออกกำลังกายแบบเบาๆ แบบอ่อนตัวหรือความยืดหยุ่น เช่นการดันพื้นหรือวิดพื้น หรือการยืดเส้น  ในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไป  และไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการบริโภคอาหารแต่อย่างใด

3. อารมณ์และการพักผ่อน

ผู้ถือศีลอดที่แท้จริงคือ ผู้ที่อวัยวะทุกส่วนของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นบาปและเป็นโทษ  ลิ้นของเขาจะต้องระงับจากการพูดเท็จ คำพูดที่ไร้สาระเหลวไหล คำพูดที่หยาบคายลามก  อวัยวะเพศของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นลามก  การพูดหรือจะทำกิจกรรมใดๆ จะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการถือศีลอดของเขา   ท่านศาสดาสนับสนุนให้มุสลิมผู้ถือศีลอดมีมารยาทที่ดีงาม และความประพฤติปฏิบัติเป็นที่ยอมรับและน่าสรรเสริญ และปลีกตัวให้ห่างไกลจากการกระทำที่น่ารังเกลียด  และการพูดจาที่หยาบคาย สามหาว ลามกอนาจาร  มุสลิมควรใช้เวลาส่วนใหญ่ในเดือนรอมฎอนกับการระลึกถึงอัลลอฮ์ การศึกษาและทบทวนพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ปฏิบัติอิบาดะฮฺ และทำความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ตลอดเวลา  ทำให้เกิดพลังตักวาอย่างมั่นคงในจิตใจ เกิดจิตใต้สำนึกที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำความดีและละอายที่จะทำความชั่ว

สำหรับการพักผ่อนในเดือนรอมฎอน ตารางเวลาการนอนของมุสลิมจะเปลี่ยนไป การละหมาดสุนัตที่เพิ่มมากขึ้น การตื่นมากลางดึกเพื่อเตรียมและรับประทานอาหารซะฮูร ทำให้เวลาการนอนในตอนกลางคืนลดน้อยลง ควรใช้เวลาในช่วงบ่ายงีบหลับบ้างเพื่อทดแทนเวลานอนในช่วงกลางคืน  หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร เพราะอาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รวมถึงจะเพิ่มความเฉื่อยชาและเกียจคร้านให้มากขึ้น

4. สิ่งเสพติด(บุหรี่)

ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างก็ทราบดีว่าบุหรี่มีสารพิษที่อันตรายแค่ไหนต่อชีวิต แม้กระทั่งบนซองบุหรี่ทุกซอง ยังมีคำแจ้งเตือนถึงอันตรายและโรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ทั้งกับตัวผู้สูบไปจนถึงผู้ที่อยู่ใกล้ชิด  บุหรี่ เป็นจุดเริ่มต้นการนำไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่นๆ  มีการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่  มีการออกกฎหมายจำกัดพื้นที่สูบและปรับผู้ที่ฝ่าฝืนการสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบ จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดวันเลิกบุหรี่ประจำปี  แต่ในสังคมมุสลิมยังมีการสูบบุหรี่กันอย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งในบรรดา นักวิชาการ นักการศาสนาหรือผู้ที่สังคมยกย่องว่าเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาก็ตาม  มุสลิมส่วนใหญ่ละเลยและเมินเฉยกับการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ผู้ใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ต่อหน้าเยาวชนไม่เป็นแบบอย่างที่ดี จึงยังไม่สามารถนำไปสู่การห้ามปรามบุตรหลานให้ลด ละ เลิก บุหรี่ และป้องกันนักสูบหน้าใหม่อย่างจริงจัง 

ศาสนาอิสลามถือว่าอาหารทุกประเภทที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตถือเป็นสิ่งต้องห้ามทั้งสิ้น ในช่วงเวลาของการถือศีลอดมุสลิมสามารถอดน้ำ อดอาหาร และอดบุหรี่มาได้ตลอดทั้งวัน นับว่าเป็นโอกาสดีที่มุสลิมจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เลิกสูบบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งสังคมมุสลิมต้องพัฒนาการถือศีลอดให้มีประสิทธิภาพ  มีการรณรงค์ ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่อย่างจริงจัง เพื่อให้เดือนรอมฎอนปีนี้ ปลอดจากควันบุหรี่ อินชาอัลลอฮฺ

           

 

 


แก้ไขล่าสุด : 31 พ.ค. 2562, เวลา 15:47



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่