เผยผลตรวจบุหรี่ไฟฟ้า 51 ตัวอย่าง พบสารนิโคติน
รายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้รับตัวอย่างของกลางที่เป็นน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 51 ตัวอย่าง จากสถานีตำรวจในจังหวัดชลบุรี ซึ่งบางตัวอย่างระบุว่าปราศจากสารนิโคติน แต่จากผลการตรวจพบสารนิโคตินในทุกตัวอย่าง เตือนผู้สูบเสี่ยงได้รับสารนิโคตินหรือสารพิษชนิดอื่นๆ เข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากในการผลิตน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับ จึงไม่สามารถควบคุมปริมาณนิโคตินในน้ำยาได้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า จัดเป็นผลิตภัณฑ์ห้ามส่งออกหรือนำเข้ามาในประเทศตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ห้ามขายหรือให้บริการตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ปัจจุบันยังพบการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากมีรูปลักษณ์และองค์ประกอบที่ดึงดูดใจให้วัยรุ่นหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งอาจเกิดความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีนิโคติน บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่มีเพียงสารนิโคตินที่ทำให้ติดและเป็นสารก่อมะเร็งเท่านั้น ยังมีสารที่ทำให้เกิดไอน้ำ และอาจมีโลหะหนักและสารพิษอื่นๆ อีกได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ในปี พ.ศ. 2559-2561 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้รับตัวอย่างของกลางที่เป็นน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 51 ตัวอย่าง จากสถานีตำรวจในจังหวัดชลบุรี ซึ่งส่งมาตรวจพิสูจน์หาสารเสพติด จากการตรวจด้วยวิธี Thin Layer Chromatography (TLC) พบสารนิโคตินในทุกตัวอย่าง รวมทั้งตัวอย่างที่ข้างขวดระบุว่าปราศจากสารนิโคตินด้วย และเนื่องจากในการผลิตน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับ ผู้สูบจึงอาจเสี่ยงได้รับสารนิโคตินมากเกินขนาดตามปริมาณสารนิโคตินของผู้ผลิตแต่ละราย
“นอกจากนี้การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดเริ่มต้นของเยาวชนที่กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งอาจเริ่มทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าจนทำให้ติด ซึ่งอาจนำไปสู่การสูบบุหรี่หรือเสพสารเสพติดชนิดอื่นๆ ในอนาคตได้” นายแพทย์โอภาส กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา – กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
แก้ไขล่าสุด : 6 มิ.ย. 2562, เวลา 08:24