อภ.ยกระดับสารสกัดขมิ้นชันแคปซูล สู่ตลาดยุโรป

องค์การเภสัชกรรม (จีพีโอ) ยกระดับสารสกัดขมิ้นชันแคปซูล “แอนติออกซ์” สู่ตลาดยุโรป ซึ่งมีมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรมากที่สุดในตลาดโลกกว่า 1.84 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 53% ของตลาดรวมทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ราวๆ 3.50 ล้านล้านบาท

ด้วยกฎระเบียบของสหภาพยุโรปและมาตรฐานขั้นสูง องค์การเภสัชกรรมจึงจำเป็นต้องพัฒนา ยกระดับในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ด้วยการร่วมมือกับบริษัท ไบโอนอริคา ประเทศเยอรมนี ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรชั้นนำซึ่งมีการวิจัย พัฒนาด้วยเทคโนโลยี มาตรฐานคุณภาพสมุนไพรระดับโลก ยกระดับสารสกัดขมิ้นชันแคปซูล “แอนติออกซ์” สู่ตลาดยุโรป ซึ่งมีมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรมากที่สุดในตลาดโลกกว่า 1.84 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 53% ของตลาดรวมทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ราวๆ 3.50 ล้านล้านบาท

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากแนวโน้มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่ใส่ใจสุขภาพและสินค้าจากสมุนไพรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่สังเคราะห์จากเคมีมีผลข้างเคียงค่อนข้างสูง นอกจากนี้ประเทศในสหภาพยุโรปมีความนิยมใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรมากขึ้น โดยมีมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรมากที่สุดในตลาดโลกกว่า 1.84 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 53% ของตลาดรวมทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ราวๆ 3.50 ล้านล้านบาทในปี 2560 ทั้งนี้ในประเทศเยอรมนีเอง มีการใช้ยาสมุนไพรสูงกว่า 28%

นพ.โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่องค์การเภสัชได้นำร่องพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดขมิ้นชันแคปซูล “แอนติออกซ์” ซึ่งได้รับอนุมัติทะเบียนยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบันรายแรกของประเทศ ทั้งนี้สหภาพยุโรปถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจในการเข้าไปทำการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้และเศรษฐกิจให้ประเทศ แต่ด้วยกฎระเบียบของสหภาพยุโรปและมาตรฐานขั้นสูง องค์การจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนา ยกระดับในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ด้วยการร่วมมือกับบริษัท ไบโอนอริคา ประเทศเยอรมนี ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรชั้นนำซึ่งมีการวิจัย พัฒนาด้วยเทคโนโลยี มาตรฐานคุณภาพสมุนไพรระดับโลก

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการร่วมมือทางวิชาการเพื่อดูความเป็นไปได้ในการผลิตเป็นยาในตลาดยุโรป รวมถึงยกระดับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสกัดสมุนไพรไทยขององค์การให้มีมาตรฐานยุโรป อาทิ การคัดเลือกสายพันธุ์ การควบคุมการปลูกสมุนไพร การสกัดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตยาสำเร็จรูป การศึกษาความปลอดภัย และประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งข้อแนะนำในการพัฒนาเอกสารข้อมูลทะเบียนผลิตภัณฑ์สารสกัดสมุนไพรให้เป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดยุโรป

“ทั้งนี้องค์การมีการจัดเตรียมปลูกสมุนไพรขมิ้นชันใน 3 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ยะลา และตราด เพื่อเป็นวัตถุดิบ พร้อมเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตให้สามารถรองรับการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศในอนาคต คาดว่าต้นปี 2562 การศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้น่าจะได้ข้อสรุปถึงสิ่งที่องค์การต้องปรับปรุงพัฒนา แล้วจึงจะมีการกำหนดเป้าหมายในการทำตลาดต่อไป”

ศ.มิคาเอล โพ้ป ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทไบโอนอริคา ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ในยุโรปนิยมใช้ธรรมชาติในการเยียวยาและใช้สมุนไพรในการรักษามากกว่าสารเคมีและยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อช่วยคนไข้มะเร็งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในช่วงท้ายของชีวิต

ทั้งนี้บริษัท ไบโอนอริคา ได้ทำฟาร์มออร์แกนิก ซึ่งปลูกพืชหลากชนิด เช่น โอลีฟ ส้ม ฯลฯ เพื่อให้คนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย 100% เพราะทุกวันนี้เราต้องหันมาพึ่งพาธรรมชาติมากขึ้น จากตลาดสมุนไพรในยุโรปที่มีมูลค่ากว่า 1.84 ล้านล้านบาท ทำอย่างไรจะสามารถพัฒนาสมุนไพรไทยไปสู่ยุโรปได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ไทยต้องพัฒนาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานที่สุด

ชู 5G ยกระดับสมุนไพรไทย
นพ.วิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม ได้ดำเนินการด้านสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเน้นคุณภาพมาตรฐานในทุกขั้นตอนทั้งกระบวนการวิจัยและการผลิต เช่นเดียวกับกระบวนการผลิตยาแผนปัจจุบันโดยใช้วัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพจากเกษตรกรภายในประเทศ


โดยคำนึงถึงหลัก 5G ประกอบด้วย GAP: Good Agriculture Practice การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี, GHP: Good Harvesting Practice การปฏิบัติที่ดีในการเก็บเกี่ยว, GLP: Good Laboratory มาตรฐานที่ดีของห้องปฏิบัติการ, GMP: Good Manufacturing Practice มาตรฐานกรรมวิธีที่ดีที่สุดในการผลิต, GCP: Good Clinical Practice การปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี โดยการร่วมมือกับทีมวิจัยจากหลายหน่วยงานและการวิจัยในผู้ป่วยโรคต่างๆ

ผลวิจัยทางคลินิกสารสกัดขมิ้นชัน
ทั้งนี้สารสกัดขมิ้นชันแคปซูล “แอนติออกซ์” ได้ผ่านการศึกษาทางคลินิกในคนไข้ โดยมีการศึกษาวิจัยในหลายๆ ด้าน อาทิ การศึกษาผลในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม เปรียบเทียบกับการใช้ยาต้านการอักเสบไอบูโปรเฟน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อ ความฝืดของข้อลดลง เพิ่มความสามารถในการใช้งานของข้อ และมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่ายาไอบูโปรเฟน การวิจัยในผู้ป่วยเบต้าธาลัสซีเมีย พบว่าช่วยเพิ่มอายุของเม็ดเลือดแดงและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การวิจัยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าสามารถลดภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดไขมันในร่างกายทั่วไปและไขมันใต้ผิวหนัง


นอกจากนี้ การศึกษาในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน พบว่าช่วยป้องกันการเกิดเบาหวาน และช่วยการทำงานของเซลล์เบต้าซึ่งเป็นเซลล์ที่สร้างอินซูลีน และ การศึกษาในผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ พบว่าสามารถลดโอกาสเกิดหัวใจวายหลังการผ่าตัดและอาจช่วยให้หัวใจของคนไข้เสียหายน้อยลง

ที่มา คมชัดลึก
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 27 พ.ย. 2561, เวลา 18:44



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่